เช้าวันต่อมา เราเดินทางไป
หงสาวดี หรือ
พะโค ที่ห่างจากย่างกุ้งออกไป 84 กิโลเมตร ด้วยถนนสายตรง เส้นยาว และเก็บค่าผ่านทาง
“วันนี้เราจะไปตีหงสา” ชาวคณะบางคนก็ร้องออกมาอย่างนั้น ด้วยความคะนองปาก ถึงแม้ชาวเชียงตุงอย่างไกด์ท้องถิ่นทั้ง 2 จะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นพื้นที่สีขาว ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่ทางการพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวเชียงตุงจึงได้รับการดูแลอย่างพอสมควร ในฐานะประชาชนพม่าคนหนึ่ง เช่น ได้รับการศึกษาตามแต่ความสามารถ อย่างมานิตก็จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สาขาชีวะ ส่วนบุญยืน ก็ได้รับการศึกษาถึงปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน สาขาฟิสิกซ์ (ถ้าจำสาขาไม่ผิดนะ) ความรู้สึกเป็นพวกพร้องของกับชาวพม่าแท้ๆจึงมีมาก
ไม่พอ ยังถามมานิตอีกว่า
“ทำไมพม่าต้องเผากรุงศรีฯ ทำไมต้องเผาวัด ทั้งที่ก็เป็นชาวพุทธ” คราวนี้ มานิตสุดทนเลย สวนกลับทันควันว่า
“แล้วไทยทำอะไรกับเขมร” สะอึกเลย แต่คนสะอึกน่ะอีชั้น เพราะพวกลูกทัวร์เหล่านี้เค้าคงไม่ได้เรียนหรอกค๊า ว่าเราทำอะไรกับเขมร มีแต่อีชั้นนี่แหละ ที่รู้
จุกเลย - -“
เมื่อวานไปชเวดากองไกด์ก็อึดอัดจะแย่แล้ว วันนี้ไปวังบุเรงนองอีก โอ้ย…
วังบุเรงนอง หรือ
พระราชวังบายิงนอง (Ruin Palace of Bayinnaung The Great) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 เป็นสถานที่ที่พระสุพรรณกัลยา พระนเรศวร พระราเมศวร(พระเอกาทศรถ) และพระเทพกษัตริย์ เคยประทับในฐานะที่เข้าใจกันว่าคือ ตัวประกัน
ปัจจุบันเหลือแต่ตอ เพราะถูกมอญยะไข่เผา สมัยนันทบุเรง ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรจะบุกเข้ามา เมื่อปี พ.ศ. 2142 ก่อนที่ทางการพม่าจะบูรณะในส่วนของพระตำหนัก และท้องพระโรง ซึ่งน่าจะเรียกว่า สร้างใหม่มากกว่า โดยอาศัยคำบอกเล่าจากเอกสารเก่า
แน่นอน มีรึที่ชาวคณะจะเชื่อได้ว่าวังนี้ถูกมอญเผา แทนที่จะเป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลูกทัวร์ยังคงส่งเสียงร้องว่า
“วังนี้ไงที่ถูกพระนเรศวรเผา” เอากะเค้าสิ

ภายในบริเวณพระราชวังมีพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ภายในบรรจุพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ซึ่งในส่วนนี้มานิตไม่อธิบายให้ลูกทัวร์ฟัง คงเพราะไม่อยากได้ยินคำด่าจากลูกทัวร์ไทย มานิตแค่สะกิดขวัญใจไกด์อย่างอีชั้นคนเดียว แล้วถามว่า “ทายสิว่าพระพุทธรูปเป็นศิลปะแบบไหน” แน่แล้ว “อยุธยา” อีชั้นอุทาน ง่า…ดีแล้วที่ไม่ได้บอกลูกทัวร์คนอื่น
...............................ศิลปะแบบไหนเอ่ย
เรามาต่อกันที่ พระธาตุมุเตา หรือ ภาษาถิ่นคือ ชเวมอดอ (Shwemawdaw Pagoda) มีอายุมากกว่า 2 พันปีมาแล้ว องค์พระเจดีย์มีความสูงถึง 114 เมตร แต่น่าเสียดายที่หักโค่นลงมาทางทิศตะวันออก ด้วยสาเหตุแผ่นดินไหว จึงให้จุดนั้นเป็นจุดอธิฐาน แล้วสร้างส่วนยอดขึ้นมาใหม่แทนส่วนที่หัก


......ภาพบน คือ ยอดเจดีย์ที่หักโค่นลงมา, ส่วนภาพล่าง คือ ที่บูรณะแล้ว โดยต่อเติมยอดขึ้นมา
วัดพระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ชเวทาลยวง (Shwethalyaung Pagoda) สร้างเมื่อ ค.ศ. 994 (พ.ศ. 1537) องค์พระมีความยาว 55 เมตร สูง 16 เมตร โดยพระเจ้ามิคทิปปะ

จากนั้นเราก็เดินทางกลับมาที่ย่างกุ้ง เพื่อมาที่เจดีย์โบตะตอง (Botataung Pagoda) แปลว่า คน 1 พันคนมารับพระเกศาไปไว้ที่ชเวดากอง มีการเชิญประธาตุมาประดิษฐานในผอบทองคำ ถูกทำลายลงในลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ เจดีย์แห่งนี้มีโครงสร้างโปร่ง สามารถเดินข้างในได้

หันหน้าเข้า ทางซ้ายมือจะมีทางเดิน ไปสักการะเทพทันใจ เมื่อขอพรก็เขียนใส่กระดาษไปกับถาดเครื่องสักการะ เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก
ขวามือ มีตึกฝรั่ง ที่อังกฤษสร้างไว้ มีพระพุทธรูปสำริด สร้างโดยพระเจ้ามินดงมหาราช ชื่อ พระนานอู (Nan oo) ซึ่งแปลว่า อยู่หน้าพระราชวัง เนื่องจากเคยเป็นพระที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังมัณฑเลย์ ก่อนที่จะถูกนำไปไว้ที่อังกฤษ 66 ปี จึงได้คืน
จากนั้นเราก็ไปเดินเล่นกันที่ตลาดสก็อต เพื่อเลือกซื้อของฝากก่อนกลับบ้าน ขอแนะนำรองเท้า กับทะนาข่า หรือแป้งพม่านั้นแหละ จริงๆแล้วมันทำมาจากรากไม้ แบ่งขายเป็นท่อนๆ แต่ต้องซื้อแท่นฝนมาด้วย ถ้าจะให้สะดวกเค้าก็มีขายเป็นตลับ ไม่ต้องมานั่งฝนเอง แล้วก็โสล่งพม่า ใส่สบ๊ายสบาย ที่สำคัญ ชายชาวพม่าร้อยละ 60 ไม่ใส่กางเกงใน ค่ะ โอ้ว...
ถึงเวลากลับที่พัก แทนที่เราจะอยู่เฉยๆรึ ไม่มีทาง Where is a whereๆ ไหนๆก็ไหนๆ ขอลองผับพม่าหน่อยเป็นไง ใจจริงอยากไปผับนอกโรงแรมใจจะขาด แต่มานิตอึกอักไม่อยากให้ไป เพราะวันที่ 27 มีนาคม จะเป็นวันชาติพม่า ช่วงนี้ชาตินิยมจะแรงกล้ามาก หากเราออกนอกที่พักยามวิกาล เราอาจโดนทำร้ายได้
ขัดใจจริงๆ แต่ความหวังสุดท้ายคือ พับในโรงแรมนี่แหละ แต่ดูๆแล้วลักษณะมันไม่เหมือนพับ คล้ายคาราโอเกะห้องใหญ่มากกว่า
ไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น เช่นเดียวกับเกือบทุกที่ที่เราไป เนื่องจากพม่าถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติจากปัญหาการเมือง แม้พม่าจะมีนโยบายท่องเที่ยวที่ตั้งชื่อสวยหรูว่า Visit Myanmar Year ในปี พ.ศ. 2539 ช่วงที่เรามี Amazing Thailand นั้นแหละ แต่สงสัยการโปรโมทเค้าจะเป็นความลับ เพราะไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ให้ความช่วยเหลือพม่าและดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ในฐานะยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย และไทย ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง
สาวเสิร์ฟหลายเชื้อชาติเดินกันขวักไขว่ คอยบริการลูกค้า คนที่ฉันเห็นสวยที่สุดมานิตบอกว่าเป็นคนอาระกัน ผิวขาว ตาโต จมูกโด่ง แบบแขกขาว เพราะเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ติดกับอินเดีย มาถึงที่แล้วต้องลองเบียร์พม่าสักหน่อย จืดๆแต่กินดี
เที่ยวบินกลับ เราก็ใช้บริการภูเก็ตแอร์ไลน์เช่นเคย เครื่องใหญ่กว่าเดิมหน่อย อาการร่อนมีน้อยลง แต่ที่นั่งก็ยังแคบเหมือนรถตู้ อบอุ่นเหมือนเดิม
คิดถึงพม่า อยากไปอีกจัง คราวหน้าจะไปมัณฑเลย์ …